ประวัติความเป็นมาของพระเกี้ยว
เกี้ยว…เครื่องประดับศีรษะ เครื่องสวมจุกราชาศัพท์ เรียกว่า “พระเกี้ยว” คนสมัยก่อนไว้ผมยาว จึงต้องเกล้ามุ่นไว้แล้วหาสิ่งรัดรอบไว้เรียกว่า “เกี้ยว” โดยใช้ดอกไม้เป็นมาลาสวมประดับ ต่อมาจึงทำด้วยทองคำ สิ่งมีค่า มีลวดลาย เพชรพลอย กลายเป็นกรองหน้าปันจุเหร็จ และมงกุฎ (แบบฝรั่ง) ส่วนพระเกี้ยวเป็นเกี้ยวยอดใช้ประดับผมทรงสูง เช่น ประดับจุก บางทีเป็น 2 ชั้น 3 ชั้น เช่น ที่สวมพระเจ้าลูกเธอในเวลาโสกัณต์ (จากสารานุกรมไทย เล่ม 1 หน้า 216 – อุทัย สินธุสาร)
พระเกี้ยวเป็นตราประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่า “ตราจุลมงกุฎ” ซึ่งแต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้กำหนดเครื่องหมายพระเกี้ยวเป็นตราประจำโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระองค์และเมื่อทรงสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตราพระเกี้ยวประจำโรงเรียนก็สืบทอดเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยไป การใช้หมอนรองพระเกี้ยวเป็นสีชมพูก็ด้วยเป็นวันอังคาร อันเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การใช้เครื่องหมายพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำสืบเนื่องจากเดิมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปัจจุบันเป็นโรงเรียนที่สังกัดอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้นักเรียนชายใช้พระเกี้ยวทอง นักเรียนหญิงใช้พระเกี้ยวเงิน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการบางใหญ่ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายพระเกี้ยวเป็นตราประจำโรงเรียนเช่นเดียวกัน
สามารถกล่าวได้ว่า เครื่องหมายพระเกี้ยวเป็นตราประจำพระองค์อันมีที่มาจากพระนามว่า “จุลจอมเกล้า” แห่งองค์พระผู้พระราชทานกำเนิดการศึกษาของไทย
11,255 total views, 6 views today